บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทความเกี่ยวกับภาษีเหล้านอก

บทความเกี่ยวกับภาษีเหล้านอก

บทความเกี่ยวกับ คมชัดลึก


          หลังจากรัฐบาลหรือกรมสรรพสามิตมีการปรับขึ้นภาษีสุรายกแผงทั้งสุราขาวและสุราสี ส่งผลให้ราคาขายปลีกมีการขยับขึ้นทั้งสุราในประเทศและต่างประเทศ จึงมีการคาดการณ์ว่าตลาดเครื่องดื่ม

          แอลกอฮอล์ในส่วนของเบียร์น่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นมากทั้งจากราคาที่ถูกกว่าสุรา และการแข่งขันกันของภาคเอกชนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการเปิดตัวสินค้าใหม่และการทำตลาดในเชิงรุก ส่งผลให้ตลาดสุรายิ่งมีส่วนแบ่งน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะสุรานำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนด้วย

           นายธนากร คุปตจิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมสรรพสามิตระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2552-2555 ตลาดสุรากลั่นในประเทศมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 มียอดการจำหน่ายถึง 583.56 ล้านลิตร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2552 ที่มียอดการจำหน่าย 486.35 ล้านลิตร ขณะที่ยอดการจำหน่ายสุรากลั่นนำเข้าเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อย

        โดยมียอดการจำหน่ายรวมอยู่ที่ 28.5 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2552 เพียง 3.66 ล้านลิตร เป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคหันไปนิยมบริโภคสุรากลั่นในประเทศที่มีราคาถูกกว่า ส่งผลให้สุรากลั่นในประเทศ ในปี 2555 มีปริมาณถึง 95.34% ส่วนสุรากลั่นนำเข้าจากต่างประเทศมีจำนวนเพียง 4.66% ของตลาดสุรากลั่นในประเทศไทยทั้งหมด

                        “จากข้อมูลของกรมสรรพสามิตจะเห็นว่าสุรากลั่นนำเข้าถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับสุรากลั่นในประเทศ กฎหมายหรือมาตรการภาษีต่างๆ จึงควรคำนึงถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะตามมา เช่น อัตราการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกันระหว่างสุรากลั่นในประเทศและสุรากลั่นนำเข้าทำให้เกิดช่องว่างของราคา เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสุราในประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงกว่า โดยเฉพาะหลังจากที่กรมสรรพสามิตปรับขึ้นภาษีสุราไปล่าสุด ยอมรับว่าสุรานำเข้าต่างประเทศมียอดขายลดลงมาก และผู้ที่เคยซื้อสุรานำเข้าที่มีราคาแพงก็หันไปซื้อสุรานำเข้าที่ถูกกว่าแทน” นายธนากร กล่าว

                        ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมสรรพสามิตยังพบว่า สุราผสมในประเทศก็มีการเติบโตที่เด่นชัด เห็นได้จากรายได้จากการจัดเก็บภาษีสุราผสมในปี 2554 ที่จัดเก็บได้ถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2549 จัดเก็บได้เพียง 1.7 พันล้านบาท

เบียร์เจ้าตลาดกินส่วนแบ่ง74%

                        นอกจากนี้ จากการจัดเก็บภาษีของสุรากลั่นทุกประเภทดังกล่าวเทียบกับสุราแช่ ซึ่งหมายถึง เบียร์และไวน์ที่มีอัตราการจัดเก็บตามมูลค่า 60% และตามปริมาณ 100 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าสุรากลั่นที่เก็บเต็มเพดาน 400 บาทต่อลิตรและเกือบเต็มเพดานบ้าง ยกเว้นสุราขาวที่เก็บ 150 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้บริโภคหันไปนิยมดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์กันมากขึ้น

                        ทั้งนี้ จะเห็นได้จากสัดส่วนตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ ในปี 2555 พบว่าเบียร์มีส่วนแบ่งตลาดถึง 74.30% สุรากลั่นในประเทศ หรือเหล้าขาวมีสัดส่วน 21% สุราพร้อมดื่มในประเทศ หรือ วิสกี้ 1.92% ไวน์ในประเทศ 1.20% สุรากลั่นนำเข้า 1.03% ไวน์นำเข้า 0.36%  เบียร์นำเข้า 0.17% และสุราพร้อมดื่มนำเข้า 0.17%

                        นอกจากนั้น จากข้อมูลขององค์กรต่างประเทศ IWSR สำรวจสุรากลั่นที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในโลกพบว่า โซจู ของเกาหลี มียอดขายอันดับ 1 อยู่ที่  64.5 ล้านลัง รองลงมาคือเหล้าขาวของไทยอยู่ที่  30.9 ล้านลัง และอันดับ 3 ว็อดก้า อยู่ที่  25.1 ล้านลัง

                        นายธนากรกล่าวอีกว่า สุราขาวปี 2555 เติบโตจากปี 2554 ไม่มากนัก จาก 329 ล้านลิตรเป็น 345 ล้านลิตร แต่สุราผสมโตเร็วมากจาก 181 ล้านลิตรเป็น 204 ล้านลิตร สะท้อนว่าผู้บริโภคหันไปดื่มสุราผสมในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2552 ที่รวมแล้วมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 97 ล้านลิตรหรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยด้านราคาหากเทียบกับสุรานำเข้าที่ค่อนข้างแพง โดยสุราในประเทศมีราคาตั้งแต่ 100 -520 บาท แต่สุราต่างประเทศราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 300-500 บาท ไปจนถึงหลักพันหรือหลายพันบาท

                        อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยระยะ 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า 98% ของส่วนแบ่งในตลาดเป็นสุราในประเทศทั้งเบียร์ เหล้าขาวและเหล้าสี ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าจากต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 1.4-1.5% โดยในปี 2555 ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศอยู่ที่ 2,753 ล้านลิตร หรือมีสัดส่วน 98.43% ในขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าอยู่ที่ 44 ล้าลิตร หรือมีสัดส่วน 1.57%

                        ทั้งนี้ สุรากลั่นประกอบด้วย สุราสามทับ หมายถึง สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่แปดสิบดีกรีขึ้นไป ใช้สำหรับในอุตสาหกรรมและการแพทย์ สุราขาว หมายถึงสุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี ซึ่งในตลาดมีไม่กี่ยี่ห้อ สุราผสม หมายถึง สุรากลั่นที่ใช้สุราขาวหรือสุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี ซึ่งหมายถึงเหล้าสีราคาถูกที่ขายในตลาด สุราปรุงพิเศษ หมายถึง สุรากลั่นที่ใช้สุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี ในตลาดมีเพียงยี่ห้อเดียวที่เป็นเหล้าของไทย และสุดท้ายสุราพิเศษ หมายถึงสุรากลั่นที่ทำขึ้นโดยใช้กรรมวิธีพิเศษ มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรั่นดีและวิสกี้ที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

กฎข้อบังคับใหม่มีปัญหาตีความ

                        นายธนากรกล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องของราคาที่ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าสุราต่างประเทศเสียเปรียบในแง่การเสียภาษีนำเข้าด้วยนอกเหนือจากภาษีสรรพสามิตแล้ว เรื่องของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งการโฆษณาและการจำหน่ายก็เป็นส่วนหนึ่งให้ไม่สามารถทำการตลาดได้ โดยเฉพาะการออกกฎระเบียบเพิ่มเติมล่าสุด เช่น ประกาศสำนักนายกฯ ที่ออกเพิ่มเติม มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555  เกี่ยวกับการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง บนรถโดยสาร ขณะขับขี่ หรือในรถ รวมถึงห้ามขายห้ามดื่มในบริเวณรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 และสุดท้ายประกาศที่ออกมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 25 55 ที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน
                        พร้อมทั้งยังมีการตั้งรางวัลนำจับให้ผู้แจ้งเบาะแส 20% ของรางวัลนำจับที่สูงสุดอยู่ในระดับ 1 หมื่นบาท เจ้าหน้าที่ผู้จับได้ 40% ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ 20% และส่งคืนกระทรวงการคลังเพียง 20% แต่หากไม่มีผู้แจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่ผู้จับได้จะได้รับส่วนแบ่ง 60% และส่งเข้าคลังเพียง 40% ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้มีปัญหาในการปฏิบัติตามและบังคับใช้ เพราะเมืองไทยเป็นระบบกล่าวหา
                        “ภาคเอกชนทุกบริษัทไม่ได้โต้แย้งเรื่องกฎหมายหรือประกาศที่ออกมาควบคุมลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่กลัวว่ากฎระเบียบที่ออกมาจะไม่ได้บังคับใช้ได้จริง ปัญหาในทางปฏิบัติและการตีความ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคมากกว่า ส่วนบริษัทก็อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมในแง่ของยอดขายบ้าง จึงอยากให้การออกกฎระเบียบแต่ละครั้งทางภาครัฐควรรับฟังข้อเสนอแนะความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องบ้าง” นายธนากรกล่าว

-------------------------
คอเบียร์หนาวสรรพสามิตเล็งขึ้นภาษี

                        สำหรับทางฝั่งของกรมสรรพสามิตผู้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสุราและเบียร์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้ติดตามการจัดเก็บภาษีและการเปลี่ยนแปลงของตลาดเครื่องดื่มมึนเมาอย่างใกล้ชิด โดยนายสมชาย พูลสวัสดิ์  อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลังจากปรับขึ้นภาษีสุราก่อนหน้านี้เท่าที่ดูตัวเลขการจัดเก็บภาษียังไม่มีสัญญาณชี้ชัดว่าผู้บริโภคมีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากดื่มสุราหันไปดื่มเบียร์ที่มีราคาถูกกว่าแทน เพราะน่าจะเป็นคนละตลาดและกลุ่มเป้าหมายกัน แต่จากการจัดเก็บภาษีเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่าภาษีเบียร์เพิ่มสูงขึ้นจากเป้าหมายถึงพันกว่าล้านบาท ส่วนสุราจัดเก็บได้ลดลงเล็กน้อย
                        อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาษีสุราที่ปรับขึ้นไปเต็มเพดานและเกือบเต็มเพดานบางตัวนั้นอาจทำให้การบริโภคลดลงชั่วคราวแต่หลังจากนี้น่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ภาวะปกติ ยิ่งเข้าสู่ช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองนั้นยิ่งมียอดขายเบียร์ สุรามากกว่าปกติเป็นประจำทุกปี  การจัดเก็บภาษีก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
                        นอกจากนั้นกรมก็มีแนวคิดจะทบทวนกฎหมายการจัดเก็บภาษีเบียร์ด้วย เพราะขณะนี้การจัดเก็บภาษีถือว่าเต็มเพดานแล้ว เพราะถือเป็นสินค้าที่กรมไม่ได้สนับสนุนให้มีการบริโภคและนับวันตลาดยิ่งโตขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะขยับเพดานภาษีขึ้นไปอีกในอนาคต อีกทั้งยังถือเป็นการขยายฐานภาษีควบคู่กันไปด้วย แต่น่าจะต้องใช้เวลาเพราะการแก้กฎหมายต้องเป็นเรื่องนโยบายผลักดันเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการหรือมีการกำหนดอัตราภาษีใหม่แต่อย่างใด
                        "กรมสรรพสามิตไม่ได้มีเป้าหมายจะเก็บภาษีสุรา เบียร์ ให้มากขึ้นเพราะถือเป็นสินค้าที่ไม่ส่งเสริมให้มีการบริโภค นอกจากการขึ้นภาษีมาสกัดคนกลุ่มใหม่ไม่ให้เข้ามาทดลองแล้ว การออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้การซื้อหรือการดื่มทำได้ยากขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะแม้จะมีกฎระเบียบเข้มงวดขนาดไหนเชื่อว่าผู้บริโภคก็คงหาช่องทางซื้อและดื่มได้อยู่ดี  ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผู้ประกอบการย่อมจะไม่เห็นด้วย"
                        สำหรับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมา ยอมรับว่าเป็นภาษีหลักมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ โดยมีรายได้เป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ส่วนภาษีสุราอยู่อันดับ 4 คิดเป็นเม็ดเงิน 5.3 หมื่นล้านบาท หรือมีสัดส่วนที่ 14% และมีแนวโน้มจะจัดเก็บได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

-------------------------
(โอดขึ้นภาษี - ก.ม.เข้มฉุดตลาดน้ำเมา เหล้านอกจุกยอดวูบ - เบียร์ผงาดครอง 74% : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น