บทความน่าสนใจ
เปิดกลยุทธ์ “กิฟฟารีน” ถึงจุดเปลี่ยน ตอบโจทย์ให้ตรงใจผู้บริโภค
จากมูลค่าตลาดขายตรงที่มีกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทำให้ขายตรงเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่เริ่มคึกคักมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในวันนี้จะพบเห็นผู้ประกอบการรายเก่าและใหม่ ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์นอกต่างก็งัดกลยุทธ์ในรูปแบบต่างๆ เข้าสู้ เพื่อหวังที่จะเข้ามาแชร์ตลาดขายตรงให้ได้มากที่สุด
และเมื่อกล่าวถึงธุรกิจขายตรงแล้ว ชื่อของ “พ.ญ.นลินี ไพบูลย์” ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “กิฟฟารีน” ย่อมเป็นยอมรับ จากฐานะหนึ่งในผู้นำตลาดขายตรงหลายชั้น หรือ MLM : Multi-level Marketing ของเมืองไทย
กิฟฟารีนถูกก่อตั้งขึ้นในยุคฟองสบู่เศรษฐกิจ หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ซึ่ง พ.ญ.นลินี บอกว่า การสร้างแบรนด์ไทยในยุคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะแบรนด์ขายตรงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉะนั้นโจทย์ทางธุรกิจของกิฟฟารีนที่ต้องตีฝ่ามีอยู่ 2 ประการ คือ
1 – จะทำอย่างไรให้คนไทยยอมรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ใหม่ และ 2 – จะทำให้บริษัทเปิดใหม่ผ่านพ้นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจไปได้อย่างไร
แต่จากประสบการณ์เคยทำธุรกิจขายตรงแบรนด์ “สุพรีเดิร์ม” มาก่อน ทำให้ทราบว่าจริงๆ แล้ว เหตุผลที่คนไทยไม่มีความมั่นใจในแบรนด์ไทยนั้น เป็นเพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ดี จึงให้ความเชื่อมั่นต่อสินค้าแบรนด์ต่างประเทศมากกว่า พ.ญ.นลินี จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์กิฟฟารีนโดยการใช้หลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำเสนอข้อมูลสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค
ในขณะเดียวกันก็หันมาปรับเปลี่ยนวิธีการขายตรงในรูปแบบใหม่ จะไม่เป็นการยัดเยียดขายสินค้าให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างยอดขายของนักธุรกิจอิสระ แต่จะเป็นภาพของการเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันระหว่างนักธุรกิจอิสระกับบริษัท ให้ผลตอบแทนตามความยุติธรรมที่มาจากการใช้สินค้าหรือแนะนำสินค้าจริงๆ
นี่คือกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในยุคเริ่มแรกของกิฟฟารีน ซึ่งต้องยอมรับว่าสามารถทำให้กิฟฟารีนกลายมาเป็นบริษัทขายตรงของคนไทยที่ประสบความสำเร็จทางด้านตลาดเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อถึงวันนี้ต้องบอกว่ากิฟฟารีนได้ก้าวผ่านมาสู่ยุคที่สองของการทำธุรกิจขายตรงแล้ว ฉะนั้นคำถาม คือ จากนี้ไปกิฟฟารีนจะเดินไปในทิศทางไหน แล้วจะปรับเปลี่ยนยุทธวิธีขายตรงเป็นอย่างไร
“เรายังคงไม่หยุดที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของการเป็นผู้นำตลาดขายตรงหลายชั้น ซึ่งในตอนนี้กิฟฟารีนเติบโตขึ้นมาก การดูแลองค์กรขนาดใหญ่ก็จะเป็นอะไรที่ต้องระมัดระวังและรอบคอบ”
ดังนั้นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่จะนำมาใช้ต่อจากนี้ก็จะเป็นการผสมผสานหลายๆ องค์ประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความสามารถหรือศักยภาพของนักธุรกิจอิสระให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น หรือการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ ทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการดูแลผลิตภัณฑ์เดิม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครบถ้วน
“ความยากของธุรกิจขายตรงในยุคนี้ คือ ผู้ประกอบการจะต้องตีโจทย์ความคิดของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในวันนี้เปลี่ยนไป มีสื่อหลากหลายแขนงให้เลือกดูเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นการตัดสินใจจะเลือกซื้อสินค้าก็จะเป็นอะไรที่ต้องมาสู้กันที่ความเหนือกว่า และความแตกต่าง”
ปัจจุบันกิฟฟารีนมีสมาชิกอยู่ประมาณ 4,300,000 คน แบ่งเป็นนักธุรกิจอิสระประมาณ 300,000 คน โดยในปี 2550 มียอดขายอยู่ที่ 3,900 ล้านบาท ในขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 10% หรือประมาณ 4,300 ล้านบาท
“การปรับตัวของกิฟฟารีนนั้น ในปีนี้จะเน้นให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่งนักธุรกิจอิสระที่จะเข้ามาทำธุรกิจด้วยกัน ให้ทำงานเป็น เป็นแบบมืออาชีพจริงๆ เพราะสนามแข่งขันในปี 2551 นี้สูงมาก ต้องเรียกว่าเป็นสงครามการซื้อใจผู้บริโภค ส่วนตัวสินค้าก็ต้องปรับให้เอื้อต่อตลาดในยุคนี้ด้วย นั่นคือ มีราคาที่ไม่สูงเกินไป และมีรายละเอียดเหตุผลในข้อดีของการใช้งานอย่างชัดเจน”
พ.ญ.นลินี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การทำธุรกิจขายตรงให้ประสบความสำเร็จนั้น ประการแรกต้องเข้าใจเนื้องาน ซึ่งหมายถึง ตัวรูปแบบของธุรกิจ วิธีการทำธุรกิจที่นักธุรกิจอิสระเข้ามาทำแล้วประสบความสำเร็จได้จริง มีรูปธรรมเห็นได้ชัดเจน ทำไม่ยากจนเกินไป
และอีกประการ ต้องเข้าใจคน ธุรกิจขายตรงที่ประสบความสำเร็จในแต่ละประเทศจะต้องมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน เพราะแนวคิดของคนและขนมธรรมเนียมจะแตกต่างกัน ฉะนั้นการทำธุรกิจขายตรงไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน คุณจะต้องเข้าใจคนในประเทศนั้นๆ เสียก่อน
“ถ้าถามว่าคีย์ซัสเซคของกิฟฟารีนคืออะไร ก็มองว่าน่าจะมี 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. สินค้าของกิฟฟารีนสามารถขายตัวมันเองได้ ผู้บริโภคจำนวนมากสามารถซื้อสินค้าซ้ำอีกได้ และ 2. วิธีการบริหารจัดการคนที่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจให้ได้รับในสิ่งที่เขาพึงพอใจ ซึ่งทำให้คนเหล่านี้มีความจงรักภักดีต่อกิฟฟารีนจริงๆ” พ.ญ นลินี กล่าวสรุปทิ้งท้าย
ที่มา ผู้จัดการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น