การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
STEP 1: การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
โดยปรกติแล้ว การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ถือเป็นความฝันของนักธุรกิจทุกคน ใคร ๆก็ย่อมอยากนำเงินสกุลอื่น ๆเข้าประเทศ คิดดูง่าย ๆว่าประชากรไทยมี 60 ล้านคน แต่ประชากรทั่วโลกมีหลายพันล้านคน ไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่ขายไม้จิ้มฟันให้คนจีนก็รวยล้นฟ้าแล้วครับ
ที่ผมพูดมานี่คือความฝันของคนทั่วไป ที่ยังคงไม่ตื่นจากภวังค์ การมีเป้าหมายถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียว วันนี้ผมถามคุณว่า หากคุณต้องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ คุณต้องทำเช่นไร หลายคนคิดอยู่นาน แต่สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบ เพราะ ณ ปัจจุบันผมมองเห็นแค่ 2 วิธีที่ดีสุดในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ คือ
1. ออกงานแฟร์ตามประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมายของเรา
2. เปิดเว็บไซต์ และหาลูกค้าโดยการโปรโมตสินค้าของเราทางอินเตอร์เน็ต
หากคุณเลือกใช้วิธีแรก คุณจำเป็นต้องลงทุนสูงมาก โดยหวังว่าผลตอบแทนจะกลับมาในรูปแบบของออเดอร์ใหญ่หรือลูกค้าประจำ ซึ่งอาจจะต้องใช้การคาดหวังสูง และความเสี่ยงสูงเช่นกัน
แต่หากคุณเลือกวิธีการเปิดเว็บไซต์และหาลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์ International Trade เช่น Alibaba.com, ebay.com, tradeindia.com or Globalsources.com คุณจะเสียค่าใช้จ่ายในการทำโปรโมตน้อยมาก ๆ หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว หากคุณทำเป็น
ดังนั้น สิ่งที่ผมจะสรุปก็คือ เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะทำตลาดอย่างไร มหาเศรษฐีโลกอย่าง บัฟเฟตต์เลือกที่จะทำธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร แต่ต้องมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นเฉพาะตัว หากเรายังเลือกทำธุรกิจที่เหมือนชาวบ้าน เราก็อาจจะล้มเหลวเหมือนคนส่วนใหญ่ (ผลวิจัยของธุรกิจ SME ประเทศไทย วิเคราะห์ออกมาว่า 90% ของธุรกิจขนาดเล็กปิดตัวภายในปีแรกที่ทำ)
ดังนั้น การทำธุรกิจที่ไร้ความเสี่ยง แต่ต้องใช้ความพยายามที่จะเรียนรู้และแสวงหาความรู้อย่างธุรกิจออนไลน์ ถือเป็นโอกาสแห่งความสำเร็จที่น่าศึกษาและเป็นเทรนด์แห่งอนาคต
โดยขั้นตอนการส่งออกสินค้ามีดังนี้
1. การหาสินค้าและวิเคราะห์สินค้า
หาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ สามารถดูได้ดังนี้
Google Insight
Google Trend
Google Analytics
Google Alert
Alexa.com
Alibaba
eBay
2. ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
การศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าหรือนิสัยของลูกค้า ต้องเน้นการหาข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ไม่สามารถดูได้จากเว็บไซต์ในเมืองไทยหรือดูทีวีก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้น การหาข้อมูลของลูกค้าต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆมากมายจากต่างประเทศ รวมถึงต้องรู้พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าด้วย เช่น การซื้อขายสินค้าในไทยจะมีอิทธิพลมาจากการตลาดแบบ WOM(ปากต่อปาก) เช่น ถ้าคุณอยากไปเที่ยวที่ไหน คุณจะเข้าไปดูรีวิวเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นต่างประเทศ การที่เขาจะซื้อสินค้าสักหนึ่งชิ้น เขาจะต้องดูเรื่อง technical detail คือรายละเอียดของสินค้าหรือสเป๊คเป็นหลัก หรือลูกค้าต่างประเทศบางกลุ่มจะซื้อสินค้าผ่าน Sale Page เท่านั้น ดังนั้น การคัดเลือกลูกค้าต้องใช้หลักของ Me Too คือ ศึกษาว่าผู้ขายส่วนใหญ่ทำเช่นไร เราก็ทำตาม เพื่อลดความเสี่ยงในการผิดพลาดครับ
3. วิธีการโปรโมตสินค้าให้เข้าถึงลูกค้า
การทำตลาดถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนุกที่สุด และก็เป็นสิ่งที่ผู้ขายชาวไทยอ่อนที่สุดด้วยเช่นกัน สังเกตจากผู้ขายชาวไทยส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาเว็บไซต์เสียเงินค่าธรรมเนียมเช่น ebay, ioffer, amazon เพื่อให้ขายสินค้าได้ แต่กลับไม่เลือกที่จะเปิดเว็บไซต์ส่วนตัวและโปรโมตแบบกลยุทธ์เหยียบไหล่ยักษ์(ฝากตามเวปดังๆ) ซึ่งถือเป็นวิธีการทำตลาดที่ยั่งยืนที่สุด ดังนั้น การโปรโมตสินค้าถือเป็นสิ่งที่คนไทยต้องฝึกฝนและอัพเดตความรู้ให้มากกว่านี้ โดยการโปรโมตสินค้า สามารถทำได้หลัก ๆดังนี้
SEO
Classified Marketing
Email Marketing
Facebook Marketing
Twitter
WOM Board
PPC
4. เทคนิคการปิดการขาย
สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจคือ SPEED ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะทำสิ่งใดก็ตาม หากคุณสามารถตัดสินใจได้เร็วกว่า ลงมือทำก่อนคนอื่น ขยันกว่าคนอื่น ทำงานเร็วกว่าคนอื่น และไม่ครวญครางกับอดีต ไม่ฝันถึงอนาคต ลงมือทำในวันนี้ให้ดีที่สุด ท่านก็จะไม่มีทางพบกับความล้มเหลวในชีวิต
คำว่า SPEED ในความหมายของผม คือคุณต้องตอบอีเมล์ทุกฉบับของลูกค้าภายใน 12 ชม. และส่งของให้ลูกค้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าลืมนะครับ การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องมีลูกค้าประจำให้มากที่สุด เพราะรายได้หลักของบริษัทจะมาจากลูกค้าเหล่านี้นะครับ
5. ติดต่อชิบปิ้ง และส่งออกสินค้า
สำหรับการส่งสินค้าสามารถเลือกได้ 2 ประเภท ก็คือทางอากาศและทางทะเล ซึ่งจะเรียกว่าAir Freight & Sea Freight หากสินค้าเป็นสินค้าชิ้นเล็ก น้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม ควรเลือกส่งทางเครื่องบิน แต่หากน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัมหรือเท่ากับไซส์หนึ่งคิวบิดเมตรให้เลือกส่งเรือ อย่างไรก็ตาม หากสินค้าน้ำหนักอยู่ระหว่าง 20 – 50 กรัม จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้าว่าจะส่งเรือหรืออากาศ เนื่องจากการส่งทางเรือจะกินเวลาในการส่งค่อนข้างนาน แต่หากส่งทางเครื่องบินจะใช้เวลาเร็วกว่ามาก โดยส่วนมากหากเป็นสินค้าตัวอย่าง ลูกค้ามักจะเลือกส่งทางอากาศเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าไม่เยอะ และต้องการเห็นสินค้าตัวอย่างเร่งด่วน
STEP 2: การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
หลายคนคงจะคิดเหมือนผมว่า หากเราต้องการส่งออกสินค้า เราสามารถไปกรมส่งเสริมการส่งออกได้ แต่หากต้องการนำเข้าสินค้ามาขายในประเทศไทย ทำไมไม่มีกรมส่งเสริมการนำเข้าบ้าง คำตอบนี้ตอบไม่ยากครับ รัฐบาลไทยส่งเสริมการส่งออกสินค้ามาก ๆ เพราะถือว่าการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศเป็นการนำเงินเข้าประเทศหรือเรียกง่าย ๆว่าได้ดุลการค้าจากต่างชาตินั่นเอง สังเกตุว่าช่วงหลังมานี้ ประเทศจีนเป็นประเทศที่จะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกในอนาคต ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศจีนได้ดุลการค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากและเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก ดังนั้นการที่ประเทศใด ๆ มีการนำเข้าสินค้ามากกว่าการส่งออกสินค้า ถือได้ว่าขาดดุลการค้า ซึ่งการจะป้องกันการเสียดุลการค้า สามารถทำได้โดยตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าให้สูง จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลายคนได้กำไรเป็นกอบเป็นกำจากการขายสินค้าในประเทศไทย เนื่องจากสินค้าต่างประเทศจะมีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ สินค้านำเข้าส่วนมากจะราคาถูกและคุณภาพดี ซึ่งเกิดจากความเชี่ยวชาญของผู้ขายในการคัดเลือกสินค้าและต่อรองกับซัพพลายเออร์ต่างประเทศ ทำให้ได้ของดี ราคาถูกนั่นเอง
โดยขั้นตอนการนำเข้าสินค้ามีดังนี้
1. การหาสินค้า และวิเคราะห์พิกัดภาษีนำเข้า
สำหรับการนำเข้าสินค้า ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาขั้นตอนการนำเข้าของกรมศุลกากรทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดขั้นตอนการนำเข้าได้ด้วยการใช้บริการบริษัทชิบปิ้งที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย แต่ต้องระวังการเลือกใช้ชิบปิ้งให้มาก เนื่องจากชิบปิ้งแต่ละเจ้ามีวิธีการนำเข้าที่ไม่เหมือนกัน บางรายอาจจะคิดค่าบริการถูก แต่มีปัญหาตามหลัง บางรายไม่ได้เป็นมืออาชีพก็จะทำให้สินค้าเราสูญหายหรือชำรุดได้
สำหรับการหาสินค้า เราต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็แสนยาก เนื่องจากเราไม่สามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆในเมืองไทยได้ เช่น หากเราต้องการจะรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างประเทศ เราสามารถใช้ Google Insight ได้ แต่ในเมืองไทย คุณไม่สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ ดังนั้น การหาสินค้าให้แม่นยำ 100% เพื่อนำมาขายในประเทศไทยนั้น ถือว่ายากกว่าการทำตลาดในต่างประเทศค่อนข้างมากครับ
2. ติดต่อชิบปิ้งเพื่อนำเข้าสินค้า
การคัดเลือกบริษัทชิบปิ้งเพื่อนำสินค้าเข้าเมืองไทย ต้องพิถีพิถันในการเลือกค่อนข้างมาก เพราะต้องราคาถูกและไม่มีปัญหาตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะสินค้าบางชนิด ต้องนำเข้าในลักษณะพิเศษ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนใช้บริการชิบปิ้งใด ๆ
3. การสร้างเว็บไซต์เพื่อขายสินค้า
หากต้องการทำตลาดในประเทศไทย คุณจำเป็นต้องมีเว็บไซต์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ขาย ซึ่งถ้าคุณสร้างเว็บไซต์ไม่เป็นหรือไม่อยากเสียเงินจ้างทำเว็บไซต์แพง ๆ คุณก็อาจใช้บริการของร้านค้าออนไลน์ ซึ่งก็ถือว่าง่ายและสะดวกสำหรับการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถปรับเว็บไซต์ได้ตามใจเรา แต่ก็ประหยัดงบประมาณและสามารถสร้างเว็บไซต์ได้เร็วทันใจและเริ่มทำธุรกิจได้ทันที
4. วิธีการทำตลาดในประเทศไทยผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
ก่อนอื่นเลย เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าชาวไทยก่อน โดยคนไทยส่วนใหญ่นิยมหาสินค้าผ่านทาง Google.com, Classified Website, Webboard และ Facebook ตามลำดับ โดยเราจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิธีการทำตลาดในแต่ละรูปแบบให้เชี่ยวชาญ เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง และเป็นที่ยอมรับของเหล่านักช็อป เนื่องจากง่าย ประหยัดเวลา ราคาถูกและสะดวก ดังนั้น การศึกษาการตลาดแต่ละชนิด ถือว่าเป็นหัวใจของความสำเร็จ ซึ่งเราควรจะใส่ใจให้มาก ๆ
5. วิธีการโอนเงินและส่งสินค้า
การปรับทัศนคติของผู้ขาย ในเรื่องของการโอนเงินถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ผู้ขายหลาย ๆคนไม่มั่นใจว่าคนซื้อจะกล้าโอนเงินให้จริง ๆหรือ จะเช็คยอดเงินกับธนาคารอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าเราเป็นผู้ขายที่ดี เราจะตั้งราคาค่าจัดส่งอย่างไรให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องของการชำระเงินแต่เป็นทำอย่างไรให้ขายดีต่างหาก
ที่มา http://www.thebiz.in.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539410751
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น