บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกิดจากอะไร


ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

        เงินบาทนั้นแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีพ.ศ. 2549 จากระดับ 42 บาทต่อ 1 ดอลลาร์มาเป็น 37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในขณะนี้คือแข็งค่าขึ้นมากถึง 12% หรือเกือบ 1% ต่อเดือน ซึ่งในระยะหลังนี้จะไปโทษว่าเงินดอลลาร์อ่อนก็จะไม่ถูกนัก เพราะค่าเงินดอลลาร์นั้นมีเสถียรภาพหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ คือเงินเยนและเงินยูโร

        ดังนั้น จึงต้องมองได้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น น่าจะสืบเนื่องมาจาก ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเป็นหลักมากกว่า ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยภายนอกปัจจัยหนึ่งคือ การแข็งค่าของเงินหยวนซึ่งเป็นผลมาจากการที่จีนเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาประกอบกับการที่จีนค่อยๆ ปล่อยให้เงินหยวนถูกกำหนดค่าโดยกลไกตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

        เมื่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเป็นคู่แข่งกับจีนจึงแข็งค่าขึ้นตามเงินหยวนไปด้วย ทั้งนี้ เงินหยวนนั้นมีนัยว่าจะแข็งค่าขึ้นไปได้อีก 3-5% ภายใน 6-12 เดือนข้างหน้าตามการคาดการณ์ของเมอร์ริล ลินช์ ดังนั้น เงินบาทจึงมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย


 ปัจจัยภายในประเทศไทย
1. การส่งออกที่ขยายตัวดีเกินคาด กล่าวคือการส่งออกปีนี้ยังขยายตัวได้ในอัตราสูงเกือบ 17% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา และตัวเลขล่าสุดคือเดือนกันยายนนั้น การส่งออกขยายตัวสูงถึง 15% ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว โดยภัทรได้เคยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในครึ่งหลังของปีนี้น่าจะขยายตัวไม่เกิน 10% เมื่อการส่งออกขยายตัวดีเกินคาดไปประมาณ 5-6% ก็หมายความว่าประเทศไทยมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

2. การนำเข้าที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด คือแทนที่การนำเข้าจะขยายตัวประมาณ 15-20% ในปีนี้ การนำเข้าขยายตัวเพียง 5-10% เท่านั้น ส่วนต่างดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าการใช้เงินตราต่างประเทศของไทยต่ำกว่า "เป้า" เดือนละ 1,000-1,500 ล้านดอลลาร์ สาเหตุที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการนำเข้าจะขยายตัวมากก็สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ระดับสูง แต่ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมากลับปรับลดลงถึง 25%

3.ดุลบริการที่เกินดุล การท่องเที่ยวของไทยในปีนี้โดยรวมนั้นเป็นไปด้วยดี ทำให้มูลค่าการเกินดุลบริการนั้นมีความต่อเนื่อง และการเกินดุลบริการนั้นมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนถึง 300-400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประเทศไทย เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว

4. เงินทุนไหลเข้าประเทศสุทธิ ติดต่อกันมาเกือบ 10 ไตรมาส (หรือ 2 ปีครึ่ง) แล้ว ซึ่งการไหลเข้าสุทธินั้นอยู่ในระดับเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผมเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เม็ดเงินไหลเข้ามาประเทศไทยนั้น ก็คืออัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ที่ระดับสูงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา คือเมื่อกลางปีเงินเฟ้อสูงกว่า 6% แต่ในเดือนกันยายนนั้นลดลงเหลือต่ำกว่า 3%

5. ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันมิให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีทุนสำรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าไปแทรกแซงโดยการขายเงินบาทเข้าไปในตลาดเพื่อซื้อเงินดอลลาร์มากักตุนเอาไว้ ทั้งนี้ การขายบาทย่อมจะทำให้ปริมาณบาทในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงนั่นเอง แต่การเข้าไปแทรกแซงดังกล่าวย่อมทำให้เชื่อได้ว่าหากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าไปแทรกแซงเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้นไปอีก จึงทำให้เกิดความต้องการที่จะเก็งกำไรค่าเงินบาท

        กล่าวคือหากนักเก็งกำไรเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ยังพยายามกดค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขณะที่การนำเข้าขยายตัวต่ำและมีการตรึงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับสูง ก็จะทำให้รู้สึกว่ามีการเข้ามาลงทุนในเงินบาทนั้น มีความเสี่ยงต่ำที่เงินจะเสื่อมค่าลง แต่มีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น

        แต่ในที่สุดแล้ว ก็จะมีความเป็นไปได้สูงว่าการไหลเข้าของเงินทุน จะเสริมให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป (overshoot) ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกเริ่มฝืดเคือง แต่การนำเข้าขยายตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกเริ่มฝืดเคือง แต่การนำเข้าขยายตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง และในที่สุด เงินบาทก็จะอ่อนค่าอย่างไรก็ตาม สภาวะนี้น่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้


 ผลสะท้อนของเงินบาทแข็งค่า

        การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งน่าจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทั้งนี้ ในวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นนั้น การแข็งค่าของเงินบาทน่าจะถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ปรกติ

        โดยค่าเงินที่แข็งขึ้น จะช่วยลดความร้อนแรงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งช่วยให้รักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางการจะต้องดูแลคือ การป้องกันมิให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป จนทำให้เกิดการเก็งกำไรทั้งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและในตลาดทุน (เช่น หากนักลงทุนต่างชาติคาดว่า ทั้งเงินบาทและดัชนีหุ้นไทยจะยังปรับตัวขึ้นได้อีก ก็อาจจะนำเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ทั้งค่าเงินและดัชนีหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปอีกอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมีข่าวหรือปัจจัยลบมากระทบ หรือเมื่อเกิดการขายทำกำไร นักลงทุนก็อาจจะตื่นตระหนกและเทขายทั้งหุ้นและเงินบาทออกมาอย่างรวดเร็ว จนนำมาสู่ความผันผวนอย่างรุนแรงได้)

        ดังนั้น แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาท จะถือได้ว่าเป็นสันญาณบวกสำคัญอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจ ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่สดใสของนักลงทุน แต่การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินมิให้ปรับตัวรวดเร็วเกินไปก็ยังคงเป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากหากปล่อยไว้ก็อาจนำมาสู่การเก็งกำไรและภาวะฟองสบู่ที่ขาดเสถียรภาพได้

 เงินบาทแข็งค่า มีผลดีและผลเสียต่อผู้ประกอบการอย่างไร

 กรณีผู้ส่งออก
        ผลเสีย คือ ขาดทุน หรือขาดทุนกำไร ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการส่งออกปากกา 1 แท่ง ในราคาแท่งละ 35 บาท ซึ่งเมื่อเทียบเป็นเงินดอลล่าห์ ในขณะคำนวณจะเท่ากับ 1 ดอลล่าห์ ก็คือ คุณจะขายปากกาแท่งนั้นในราคา 1 ดอลล่าห์ (สมมติว่าเป็น CIF คือราคารวมประกันและขนส่งแล้ว) กำหนดการชำระเงิน 90 วัน ดังนั้น หลังจากที่คุณส่งปากกาออกไปในราคา 1 เหรียญดอลล่าห์วันนี้ อีก 90 วันถัดมา หลังจากคุณได้รับชำระเงินมา 1 เหรียญ แต่ดอลร่าห์อ่อน บาทแข็งอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลล่าห์ เท่ากับคุณได้รับเงินค่าปากกาในราคา 32 บาทต่อด้ามเท่านั้นเอง ขาดทุนเห็น ๆ 3 บาท ถ้าคุณส่งออกไปมูลค่า 1 แสนเหรียญ คุณจะขาดทุนเห็น ๆ 3 แสนบาท

 กรณีผู้นำเข้า
        ก็จะกลับกันกับด้านผู้ส่งออก คือ คุณจะได้กำไรจากการนำเข้าแทน คือคุณจะใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเปลี่ยนเป็นดอลล่าห์เพื่อชำระค่าสินค้า หรือเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ

        ซึ่งทั้งสองกรณีมีผลต่อต้นทุนการประกอบการ และหากคุณเป็นผู้ส่งออกและต้องการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ก็อาจจะทำได้ หลายวิธีเช่น ซื้อ Option ทำ forward หรือแม้แต่การการซื้อขายเป็นเงินบาท แต่ข้อดีข้อเสียคงต้องปรึกษา exim bank

 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า

1. ลดดอกเบี้ยลงสัก 1.0 ถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายและควรจะลดทีเดียวไม่ควรจะลดทีละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ เพราะการค่อยๆ ลดจะทำให้ไม่เกิดผล และเกิดการคาดการณ์ต่อไปและต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงอัตราเป้าหมาย เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว

2. พร้อมๆ กับการลดดอกเบี้ย ทางการก็เข้าแทรกแซงตลาด และต้องทำให้พอจนเงินบาทอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ถ้าทำครึ่งๆ กลางๆ เงินบาทแข็งต่อไป ธปท.ก็จะขาดทุน ถ้าทำจนบาทอ่อนตัวลงได้ ธปท.ก็จะกำไร ถ้าอ่อนตัวลงได้ถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะล้างขาดทุนเก่าออกได้หมด

3. การออกพันธบัตร เมื่อออกมาแทรกแซงตลาด เงินบาทในตลาดก็จะเพิ่มขึ้นมากเกิน ธปท.ก็ดูดซับเงินบาทกลับไปโดย ถ้าดอกเบี้ยเงินบาทต่ำ กว่าดอกเบี้ยดอลลาร์ ธปท.ก็ไม่ขาดทุน ดอกเบี้ยเท่ากัน ธปท.เปลี่ยนดอลลาร์ในทุนสำรองเป็นพันธบัตรซึ่งตลาดยังรับได้ แล้วถ้าตลาดพันธบัตรเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นผลดีกับการพัฒนาการลงทุนอีกโสตหนึ่งด้วยการลดดอกเบี้ยอย่างแรงคงจะทำให้ราคาพันธบัตรในท้องตลาดที่มีอยู่แล้วขึ้นราคา แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วงการดำเนินการดังกล่าวไม่น่าจะพาบ้านเมืองเข้าไปเสี่ยงกับอะไร เพราะเป็นการซื้อดอลลาร์ เอามาเก็บไว้ ทำให้ทุนสำรองเพิ่ม

4. จัดการบริหารหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ อันได้แก่หนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยออกพันธบัตรเอาเงินบาท ใช้เงินบาทซื้อเงินดอลลาร์แล้วไปใช้หนี้คืนก่อนกำหนดอย่างน้อยสักครึ่งหนึ่ง

5. ในส่วนของเอกชน ถ้าผ่อนคลายกฎของ ธปท.ที่จะทำให้ภาคเอกชนสามารถยืมเงินบาทจากธนาคารพาณิชย์ไปใช้คืนหนี้ดอลลาร์ได้ เพราะหนี้เงินต่างประเทศเป็นหนี้ของเอกชนเสียตั้งกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้า ธปท.ผ่อนคลายได้ เอกชนคงรีบเปลี่ยนหนี้ดอลลลาร์มาเป็นหนี้เงินบาทแทน เพราะจะได้กำไร เพราะตอนได้มาเงินบาทมีราคากว่า 40 บาทต่อเหรียญ ถ้าคืนหนี้ตอนนี้เงินบาทมีราคา 33 บาทต่อเหรียญ เป็นการช่วยธุรกิจเอกชนด้วย ส่วนธนาคารพาณิชย์ให้สามารถปล่อยเงินที่เหลือกองอยู่ในธนาคารด้วย เพราะ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขณะนี้มีอยู่เพียง 85 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินฝากเท่านั้น ที่เอกชนถูกบังคับให้ไปกู้ต่างประเทศ เพราะกฎ ธปท.ที่ให้นับสินเชื่อของบริษัทในกลุ่มเดียวกันเป็นสินเชื่อที่ต้องจำกัดปริมาณเพื่อความมั่นคงของธนาคาร ให้สินเชื่อไม่กระจุกตัวในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป

6. สุดท้ายเร่งโครงการพัฒนาต่างๆ ให้เร็วขึ้น โดยใช้เงินกู้เป็นเงินบาทในประเทศให้มากขึ้น แม้จะไม่เกิดผลทันที แต่ก็น่าจะมีผลทางจิตวิทยาว่า ประเทศยังต้องใช้เงินดอลลาร์อย่างมาก ที่สำคัญนโยบายให้คนไทยเก็บเงินดอลลาร์ได้ ให้เอาเงินออกไปซื้อหุ้นเมืองนอกได้ ไม่ควรทำตอนนี้ ไม่มีผล เพราะผู้คนกำลังคาดการณ์ว่า เงินบาทกำลังจะแข็งต่อไป มีแต่คนอยากเก็บเงินบาท จะมีผลก็ตอนที่คนคาดว่าเงินบาทจะอ่อน คนก็จะเปลี่ยนเงินบาทเป็นดอลลาร์ ถึงตอนนั้นก็จะกลายเป็นปัญหาอีก ต้องสั่งยกเลิกอีก กลายเป็นตัวทำให้บาทไม่มีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต ถึงตอนสถานการณ์พลิกกลับอาจจะมีปัญหาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น