บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เปิดร้านขายขนมเปี๊ยะรายได้ดี


เปิดร้านขายขนมเปี๊ยะรายได้ดี
เงินลงทุนแค่หลักพันบาทที่ “ชูชัย พงษ์อุดมปัญญา” อดีตหนุ่มออฟฟิศใช้ทดลองทำขนมเปี๊ยะขายเป็นอาชีพเสริมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบัน ผลิดอกออกผล เติบใหญ่เป็นธุรกิจขนมเปี๊ยะ แบรนด์ “Mr.Chu” ซึ่งมีเงินหมุนเวียนหลักล้านบาทต่อเดือน ถือเป็นอีกตัวอย่างของคนที่กล้าจะสร้างโอกาสให้แก่ตัวเอง พลิกชีวิตจากมนุษย์เงินเดือนสู่เจ้าของกิจการสำเร็จ
 
ชูชัย พงษ์อุดมปัญญา
ชูชัย เล่าว่า ในช่วงที่ยังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน วันหยุดสุดสัปดาห์มักหาลู่ทางสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว ที่ผ่านมา เคยทำหลายอย่าง เช่น น้ำชีวภาพ อาหารสมุนไพร เป็นต้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่ง สนใจทำขนมเปี๊ยะออกขาย เพราะเห็นว่าเป็นขนมโบราณที่ยังไม่สามารถตอบความต้องการลูกค้าส่วนใหญ่ได้ครบถ้วน   “ส่วนตัวผมเป็นคนไม่ชอบกินขนมเปี๊ยะเลย แต่เหตุที่คิดมาทำขนมเปี๊ยะขายเกิดจากความสงสัยว่า ทำไมขนมเปี๊ยะถึงอยู่มาได้เป็นร้อยปี แสดงว่า ต้องมีคนชื่นชอบขนมชนิดนี้อยู่จำนวนมาก ผมเลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วทำไม เราถึงไม่ชอบกินขนมเปี๊ยะ คำตอบ คือ ฝืดคอ และเวลากิน เศษขนมเปี๊ยะมักจะร่วงเลอะเทอะ จุดนี้ทำให้ผมได้ไอเดียจะคิดค้นสูตรขนมเปี้ยะที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว”
 
จุดเด่นอยู่ที่สูตรแป้งนุ่ม
ชูชัย และลูกสาว ช่วยกันพัฒนาขนมเปี๊ยะอย่างที่ตั้งใจไว้ อาศัยหาความรู้จากตำราสอนทำอาหารหลายๆ เล่ม แล้วนำมาประยุกต์ ลองผิดลองถูกกว่าครึ่งปี จนได้เป็นขนมเปี๊ยะสูตรเฉพาะตัวที่มีคุณสมบัติเด่นที่แป้งนุ่ม ไส้นุ่ม รสชาติกำลังดี กินแล้วไม่แห้งฝืดคอ 
เจ้าของธุรกิจ เล่าว่า เบื้องต้นลงทุนแค่พันกว่าบาท ทำขนมเปี๊ยะไม่กี่สิบชิ้น ใส่ถุงพลาสติกแบบง่ายๆ วางขายตามตลาดนัดใกล้บ้าน พยายามให้ลูกค้าได้ทดลองชิม ปรากฏว่า ขนมเปี๊ยะสูตรแป้งนุ่มได้การตอบรับอย่างดีมาก ลูกค้าแทบทุกคนชื่นชอบรสชาติ ยอดขายสูงขึ้นทุกๆ สัปดาห์ ทำให้เกิดความมั่นใจ และกล้าตัดสินใจจะส่งขนมเปี๊ยะเข้าขายในห้างสรรพสินค้า   “หลังขายตามตลาดนัดไม่นาน ผมก็เดินเข้าไปติดต่อขอวางขายในห้างเดอะมอลล์ด้วยตัวเองเลย ทั้งๆ ที่เราเป็นรายจิ๋วมากๆ แต่ผมมั่นใจว่า สินค้ามีดีจริง และเมื่อเจ้าหน้าที่คัดเลือกสินค้าได้ชิมก็ให้ผ่านทันที แต่ยังห่วงว่า จะสามารถผลิตในปริมาณมากๆ และได้คุณภาพปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งผมก็ยืนยันว่าสามารถทำได้”
ในบรรจุภัณฑ์แบบกล่อง
จากเบื้องต้นเมื่อ พ.ศ.2545 ที่พ่อกับลูกสาวช่วยกันทำขนม หลังเข้าวางขายในห้างฯ ได้ขยายกำลังผลิตโดยว่าจ้างแรงงานในท้องถิ่น ซึ่งกิจการเติบโตเรื่อยมา จนปัจจุบัน มีพนักงานประจำกว่า 40 คน ยอดขายขนมเปี๊ยะมากกว่า 500 กล่องต่อวัน ขณะที่ขนมตาล อีกสินค้ายอดฮิตที่ออกตามมา ยอดขายมากกว่า 5,000 ชิ้นต่อวัน โดยมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจหลักล้านบาทต่อเดือน 
ขนมตาล อีกสินค้าที่ได้รับความนิยม
ทั้งนี้ ได้สร้างแบรนด์ว่า “Mr.Chu” มีที่มาจากชื่อตัวเอง สำหรับสินค้าเด่น คือ ขนมเปี๊ยะ ที่มีให้เลือก 5 รส ได้แก่ ไข่เค็ม ก๊วยจี๊ ถั่วเขียว ข้าวกล้อง และสตรอเบอรี่ กับขนมตาล มี 3 รสชาติ ได้แก่ ดั้งเดิม ข้าวกล้องงอก และสตรอเบอรี่ นอกจากนั้น มีสินค้าอื่นๆ หลากหลาย เช่น ถั่วอบสมุนไพร เมี่ยงกรอบสมุนไพร มะขามหยก กล้วยอบ บ๊วยทับทัม ฯลฯ ช่องทางขายวางในห้างสรรพสินค้าเครือเดอะมอลล์ และเซ็นทรัล อีกทั้งมีตัวแทนสั่งขนมไปขายต่อทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังออกบูทตามงานแฟร์สินค้าชุมชนต่างๆ ในฐานะสินค้าโอทอประดับ 4 ดาวของ จ.สมุทรสาคร
 
ชูชัย ระบุว่า สิ่งสำคัญของความอร่อยมาจากวัตถุดิบคุณภาพดี และทำสดใหม่วันต่อวัน พนักงานจะเริ่มงานตั้งแต่กลางดึก เพื่อจะทำขนมให้แล้วเสร็จพร้อมส่งได้ในตอนเช้าของทุกวัน ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไม่มีการใส่สารกันเสียใดๆ ทั้งสิ้น ผลิตได้มาตรฐาน อย. นอกจากนั้น พยายามพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์เรื่อยมา เช่น ใส่กล่องสวยงาม จัดเป็นชุด และบรรจุสุญญากาศ เป็นต้น เพื่อสร้างความหลากหลาย เพิ่มมูลค่า และช่วยยืดอายุการเก็บรักษา
ด้วยรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ เจ้าของแบรนด์ “Mr.Chu” ยอมรับว่า ปัจจุบัน มียอดสั่งซื้อสูงจนกำลังผลิตไม่เพียงพอ ดังนั้น ไม่นานมานี้ได้เข้าโครงการขอสินเชื่อโอทอปจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อลงทุนซื้อเครื่องจักร ช่วยขยายกำลังผลิต รวมถึง ทางธนาคารยังเข้ามาช่วยเหลือในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และเสริมการตลาดให้ด้วย
ชูชัย ทิ้งท้ายถึงหลักคิดในการทำธุรกิจขนมของตนเอง คือ มุ่งพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าใหม่เสมอไป อาจเป็นสินค้าเดิมแต่นำมาพัฒนาต่อยอด โดยสิ่งสำคัญต้องให้เหมาะกับความต้องการของตลาด   “ทั้งขนมเปี๊ยะ และขนมตาลไม่ใช่ขนมแปลกใหม่ แต่ผมนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับความต้องการของตลาด ทั้งด้านรสชาติและความสะดวกสบาย ดังนั้น การประกอบอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ต้องคำนึงถึงตลาดก่อนเป็นอันดับแรก และถามตัวเองว่าถนัดอะไร ตลาดต้องการอะไร ซึ่งเราต้องทำให้แตกต่างจากคนอื่น รู้จักต่อยอดสินค้า พร้อมทั้งต้องพัฒนาสินค้าของเราด้วย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น