บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เเนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง


เเนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
ในประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ จะพบว่า ธุรกิจการก่อสร้างเป็นอีกภาคธุรกิจที่มีการกล่าวถึงว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งน่าจะจริง เพราะขณะนี้มีเสียงบ่นจากคนวงใน ทั้งรับเหมาก่อสร้าง ว่า งานก่อสร้างมีความล่าช้า ส่งมอบให้ลูกค้าไม่ทันตามกำหนด ซ้ำผู้ประกอบการบางรายต้องหาผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหม่เข้ามาสานต่องานก่อสร้าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง แต่หากรวมถึงบิ๊กเนมอสังหาฯด้วย

ผลพวงที่เกิดจากปัญหาต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มจากปัจจัยแรงงานทั้งค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุผู้รับเหมาทิ้งงาน หรืองานก่อสร้างล่าช้านั้น จะเกิดขึ้นกับงานก่อสร้างเก่าที่มีการประมูลงานไว้ก่อนหน้า และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจไม่ได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เมื่อค่าแรงปรับขึ้นตามการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาล
เมื่อค่าแรงคือต้นทุนจ่ายเป็นเงินสดทุกๆ 15 วัน ค่าแรงงานขึ้น 40% ทั้งยังโดนแบงก์บีบ รับเหมารายย่อยรับไม่ไหว ทางออกก็ต้องกลายเป็นรับเหมาช่วง หรือไม่ก็ต้องเลิกกิจการไปในที่สุด !!!!
อีกประเด็นที่เกิดขึ้นกับภาคการก่อสร้าง คือ การไหลกลับของแรงงานต่างด้าว รวมถึงงานก่อสร้าง หรืองานซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐที่เกิดจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปลายปีก่อน ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างหันไปรับงานก่อสร้างของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นประเด็นให้งานก่อสร้างอาคารของภาคเอกชนไม่ได้รับความสนใจน้อยลง
นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารได้ขยายธุรกิจสู่การเป็นดีเวลลอปเปอร์เอง จากเดิมที่ดำเนินธุรกิจเพียงขาเดียวคือ ให้บริการรับเหมาก่อสร้าง เมื่อขยายฐานธุรกิจเพิ่มทำให้ต้องดูแลธุรกิจของตนเองก่อนเป็นลำดับต้นๆ ดังนั้นจะพบว่า ทางออกของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ดำเนินการกันอยู่ก็คือ ผูกติดกับผู้รับเหมาก่อสร้างในลักษณะคู่ค้า “คุณอยู่กับเรา…เราเติบโตไปด้วยกัน“ หรือไม่ก็จะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างในเครือของตนเอง
“ตอนนี้งานก่อสร้างมีเข้ามามากขึ้นกว่าปีก่อนๆ ปริมาณงานที่มีมากนี้อาจชดเชยกับค่าจ้างหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผมว่ามีงานก่อสร้างเข้าสู่ตลาดมากก็ดีกว่าไม่มีเลย ผู้รับเหมาคงไม่เดือดร้อนมากนัก” นายพลพัฒ กรรณสูต อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็น พร้อมระบุว่า ปริมาณงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมีทั้งงานซ่อมแซมงานก่อสร้างถนน สะพาน โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงงานก่อสร้างในโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐ และงานของภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของค่าแรงดังกล่าวรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายมานานแล้ว ดังนั้นภาคธุรกิจเองก็ต้องมีการปรับตัวหรือมีการเตรียมแผนการดำเนินธุรกิจรองรับเพื่อให้กระทบต่อต้นทุนให้น้อยที่สุด

ยอมให้รับเหมามีมาร์จิ้นเพิ่ม
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนายชัยรัตน์ ธรรมพีร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นและแรงบีบของการแข่งขันของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทำให้ผู้ที่อยู่รอดต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมจริงๆ และที่ผ่านมาบริษัทก็ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาต่อเนื่อง ทั้งการสร้างผลงาน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคนิคในการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพ และให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงการดำเนินการด้านต้นทุนทางการเงิน หรือต้นทุนดอกเบี้ยกับธนาคารที่ปล่อยกู้ จากการสะสมผลงาน ประสบการณ์ รวมถึงผลประกอบการด้านกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทลดแรงกดดันจากธนาคาร และในบางโครงการที่บริษัทเข้าร่วมประมูลและได้งานก่อสร้างมาโดยจำเป็นต้องมีแบงก์การันตี
ทั้งนี้ การปรับขึ้นของค่าแรงนั้นต่ำนั้น ส่งผลต่อต้นทุนรับเหมาก่อสร้างกว่า 10% และส่งผลต่อต้นทุนของดีเวลลอปเปอร์ไม่น้อยกว่า 7% ขณะเดียวกันนายชัยรัตน์ก็ยอมรับว่า งานก่อสร้างอาคารใหม่นั้นมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้หันไปลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้โอกาสในการเข้าประมูลงานของผู้รับเหมาก็มากขึ้นตาม
จากพิษต้นทุนรับเหมาก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นทำให้รับเหมาก่อสร้างที่อ่อนแอต้องออกจากระบบ ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสของผู้รับเหมาที่แข็งแรง ประกอบกับผู้ประกอบการเจ้าของโครงการจะต้องก่อสร้างโครงการตามแผนงาน และในการก่อสร้างอาคารอาคารหนึ่งค่าก่อสร้างเป็น 70% ของต้นทุนในการพัฒนา ด้วยเหตนี้ ทำให้ผู้ประกอบการยอมจะให้ผู้รับเหมาก่อสร้างมีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น วอลุ่มในการพัฒนาก็เพิ่มขึ้นตาม กล่าวคือ มีการบวกต้นทุนเข้าไปในมูลค่างานก่อสร้างของโครงการนั้นๆ
ปัจจุบันพรีบิลท์มีงานในมือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานเก่าประมาณ 2,400 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงานใหม่ ซึ่งมีทั้งการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ก่อสร้างและปรับปรุงโรงงาน อีกทั้งยังอยู่ในระหว่างการรอประมูลงานก่อสร้างใหม่อีกมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมประมาณ 5-6 โครงการ มีทั้งโครงการประเภทคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานและโรงงาน ซึ่งเป็นงานทั้งในกทม.และต่างจังหวัดตามหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น หัวหิน พัทยา เป็นต้น
ที่มา ส่อง! ธุรกิจรับเหมา ‘โอกาส’ ในวิกฤติค่าแรง : สกู๊ปพิเศษ อสังหาริมทรัพย์ : โดย … ปรียา เทศนอก
ที่มา http://www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น